สมองเสื่อม….ป้องกันได้

 

อัลไซเมอร์ เป็นภาวะสมองเสื่อมโดยมักเป็นในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เกิดการเสื่อมถอยในการทำงานของสมองจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยจะมีอาการ  เช่น หาของไม่เจอ หลงทางในที่คุ้นเคย หลงลืมง่าย

 

อาการแบ่งเป็น 3 ระยะ

ขั้นที่ 1 ก่อนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม

เป็นอาการภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย มักหลงลืมหรือมีปัญหาเรื่องความจำที่เห็นชัดเจน แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

ขั้นที่ 2 เข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม
มีอาการเสื่อมถอยเกี่ยวกับการรับรู้มากขึ้น มีอาการทางจิต และปัญหาพฤติกรรมด้วย มีความบกพร่องในการใช้ชีวิต ประจำวัน จนทำให้เกิดการต้องมีที่พึ่งพิงผู้ดูแล

ขั้นที่ 3 ระยะอาการรุนแรง
มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ มีปัญหาการก้าวเดิน การกลืน และนอนติดเตียง จำเป็นต้อง มีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนได้

 

ปัจจัยในการเป็นโรคสมองเสื่อมหรือเป็นอัลไซเมอร์

1.พันธุกรรม  หากพ่อแม่เรามียีนที่เป็นยีนของโรคอัลไซเมอร์ และพวกเขายังเป็นโรคอัลไซเมอร์ด้วยแล้ว แน่นอนว่าเราก็มีโอกาสเสี่ยงกว่าคนอื่นๆ กว่า 50%
2.อายุ เมื่อเรามีอายุ 65 ปีขึ้นไป โอกาสในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ
3.เพศ 3 ต่อ 2 คน คือผู้หญิงมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ชาย เป็นผู้หญิงจึงต้องยิ่งระวังโรคนี้
ถึงแม้เราจะหลีกเลี่ยงพันธุกรรม อายุ และเพศของตัวเองไม่ได้ แต่ยังมีองค์ประกอบอีกมากมายที่เราสามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลอัลไซเมอร์ได้

 

อาการที่เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์

  • อาการหลงลืม เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ ลืมสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา
  • สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ฤดูกาล กลับบ้านไม่ถูก หลงทิศทาง หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆ ได้อย่างไร
  • จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
  • มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ
  • ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
  • มีปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน การใช้โทรศัพท์ การดูนาฬิกา
  • มีพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
  • ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น
  • ซึมเศร้า ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล

 

วิธีป้องกัน ห่างไกลอัลไซเมอร์

1.ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต  ระดับไขมัน ในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถเสี่ยงต่อโรคอื่นๆได้หลายโรค คือ โรคหลอดเลือดตีบ โรคหัวใจ รวมถึงอัลไซเมอร์ด้วย  ดังนั้นผู้ที่ป่วยเบาหวานควรควบคุมการกิน ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

2.ทานอาหารบำรุงสมอง
ทานอาหารที่ครบ 5 หมู่  ปลา อาหารทะเล ตับไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง ผักผลไม้ น้ำ นม หลีกเลี่ยง อาหาร เค็ม หรือ หวานจัด

3.เล่นเกม ฝึกสมอง ศึกษาเรียนรู้ไม่หยุดคิด
พยายามอย่าให้สมองของเรานั้นหยุดการเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะสมองหากยิ่งใช้ก็จะยิ่งแข็งแรง โดยการหมั่นศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนับเลข การคิดเลขคำนวณเงินจากการซื้อของในชีวิตประจำวัน การศึกษาความรู้วิชาการ หรือการใช้สมองเพื่อเล่นเกม ก็นับเป็นการฝึกสมองอยู่ตลอดเวลา เป็นการช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้

4.ออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย มีประโยชน์เรื่องการคลายเครียดและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือด โดยออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอหรือการบำรุงหัวใจ เพียงวันละ 20-30 นาที อย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์

5.รักษาความปกติของความดัน
ภาวะความดันโลหิตสูงควรที่จะควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ให้ได้ปกติ ซึ่งจะเป็นผลดีในการช่วยลดความเสี่ยงในทุกๆโรคแล้ว ยังลดเสี่ยงอัลไซเมอร์ได้ด้วย

6.การเข้าสังคม
การเข้าสังคม มีเพื่อน ได้พูดคุย หรือการได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆในกลุ่มเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้สมองทำงานได้ดีมากขึ้น โดยอาจเลือกทำกิจกรรมที่ชอบ หากิจกรรมเพื่อสร้างความบันเทิง ได้หัวเราะ จะเป็นการช่วยในการกระตุ้นสมอง ให้สมองได้ทำงาน ทำให้ไม่เครียดและช่วยในเรื่องของการป้องกันอาการหลงลืม

7.รักษาหูให้ดีอยู่เสมอ
หูเสีย หูตึง หรือ การได้ยินที่ไม่ชัดเจน จนทำให้การรับรู้เสียงแย่ลง สมองที่ทำหน้าที่แปลงเสียงเป็นความหมายก็จะค่อยๆถูกปิดกั้นไปด้วย ซึ่งจะเป็นการกระทบต่อการพัฒนาสมองส่วนอื่นๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้  ใครที่ชอบฟังเพลงเสียงดังๆ หรือทำงานอยู่ในที่ที่เสียงดังๆ ควรเลิกหรือหลีกเลี่ยงเนื่องอาจทำให้เกิดภาวะหูเสื่อมได้

อาการอัลไซเมอร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดไปเลยได้ มีเพียงการรักษาหรือวิธีทำให้อาการดีขึ้นเท่านั้น โดยหลายๆท่านอาจเลือกลองทำวิธีต่างๆ  ในการป้องกัน ห่างไกลอัลไซเมอร์ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

 

Ref : Paolo , Samitivej ,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย